หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หลักฐานที่บ่งบอกวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต


วิวัฒนาการ : Evolution
คือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในประชากรของสิ่งมีชีวิต จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง วิวัฒนาการเกิดจากกระบวนการหลัก 3 กระบวนการ ได้แก่ ความแปรผัน การสืบพันธุ์ และการคัดเลือก โดยอาศัยยีนเป็นตัวกลางในการส่งผ่านลักษณะทางพันธุกรรม อันเป็นพื้นฐานของการเกิดวิวัฒนาการ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในประชากรเพื่อให้เกิด ความแปรผันทางพันธุกรรม เมื่อสิ่งมีชีวิตให้กำเนิดลูกหลานย่อมเกิดลักษณะใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะเดิม โดยลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการหนึ่ง เกิดจากกระบวนการกลายพันธุ์ของยีน และอีกประการหนึ่ง เกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างประชากร และระหว่างสปีชีส์  ในสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นจะผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนยีน อันก่อให้เกิดความแปรผันทางพันธุกรรมที่หลากหลายในสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อความแตกต่างทางพันธุกรรมเกิดขึ้น จนเกิดความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นลักษณะที่แตกต่างกัน

หลักฐานที่สนับสนุนการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

1.หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต
          โดยปกติเมื่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ตายลงก็มักจะถูกย่อยสลายให้เน่าเปื่อยผุพังลงจนไม่มีซากเหลืออยู่ แต่สำหรับบางสภาวะที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของซากสิ่งมีชีวิตได้ดี เช่น การอยู่ในน้ำแข็ง การอยู่ในยางไม้ (อำพัน) หรือการฝังตัวอยู่ในดินโคลนจนกลายเป็นหินจะทำให้สิ่งมีชีวิตที่ตายลงยังคงเหลือให้เห็นเป็นซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เราทราบว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตมากมายที่เกิดขึ้นในอดีต หลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว   ซากดึกดำบรรพ์จะพบมากในหินชั้นหรือหินตะกอน จึงสามารถคาดคะเนอายุของซากดึกดำบรรพ์ได้โดยการเปรียบเทียบกับชั้นหิน ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในหินชั้นล่างย่อมมีอายุมากกว่าซากที่พบในหินชั้นบน และเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างแล้วซากดึกดำบรรพ์ในหินชั้นบนจะมีความซับซ้อนและมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันมากกว่า
ตัวอย่าง:  ไม้กลายเป็นหิน (petrified wood)   ,                   ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออปเทอริก
                               

2.  หลักฐานจากกายวิภาคเปรียบเทียบ
 สิ่งมีชีวิตบางชนิดเมื่อเราดูจากลักษณะภายนอกจะเห็นว่ามีลักษณะต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างรยางค์คู่หน้าจะพบว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน การที่สิ่งมีชีวิตมีโครงสร้างของอวัยวะบางอย่างคล้ายคลึงกันแม้ว่าจะทำหน้าที่แตกต่างกันก็ตาม เราเรียกโครงสร้างลักษณะนี้ว่า ฮอมอโลกัส (homologous structure) ความคล้ายคลึงกันของโครงสร้างลักษณะนี้เป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าสิ่งมีชีวิตนั้นๆมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ตัวอย่าง : แขนคน ขาแมว รยางค์คู่หน้าของวาฬ และปีกค้างคาว 


 ในกรณีของสิ่งมีชีวิตที่มีอวัยวะที่ทำหน้าที่เหมือนกัน แมลง และ หากพิจารณาถึงโครงสร้างกายวิภาคจะพบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน เราเรียกโครงสร้างที่มีลักษณะต่างกันแต่ทำหน้าที่เหมือนกันนี้ว่า อะนาโลกัส (analogous structure)
ตัวอย่าง :  ปีกแมลง และปีกนก


ปีกแมลง

ปีกนก




3. หลักฐานจากคัพภะวิทยาเปรียบเทียบ (เปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเอ็มบริโอ)
การเจริญเติบโตของเอ็มบริโอของสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆจะพบความคล้ายคลึงกันในส่วนของการมีช่องเหงือกและหาง จนเมื่อสัตว์มีกระดูกสันหลังแต่ละชนิดเติบโตเป็นตัวเต็มวัยลักษณะของการมีช่องเหงือกยังคงอยู่ในสัตว์บางชนิดเช่น ปลาและซาลามานเดอร์ แต่ไม่คงอยู่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ทั้งนี้เพราะเกิดการปรับเปลี่ยนรูปร่างไปให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตนั่นเอง ซึ่งลักษณะที่คล้ายคลึงกันในระหว่างการเจริญเติบโตของเอ็มบริโออาจบ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกันได้
ตัวอย่าง: ปลา   ซาลามานเดอร์    เต่า  ไก่  หมู  วัว กระต่าย  มนุษย์




4. หลักฐานทางชีวภูมิศาสตร์
        ภูมิศาสตร์ต่างๆบนโลกของเราจะมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้มีการกระจายพันธุ์พืชและสัตว์หลากหลายสปีชีส์ออกไปตามที่ต่างๆขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนั้นๆ เรามักคิดว่าในสิ่งแวดล้อมที่มีความคล้ายกันนั้น กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่น่าจะมีความคล้ายคลึงกันด้วย แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าในสภาพแวดล้อมเดียวกันสิ่งมีชีวิตจะมีลักษณะแตกต่างกัน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่จะมีลักษณะใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตบนเกาะใกล้เคียง เช่น นกฟินช์ในหมู่เกาะกาลาปากอส มีลักษณะคล้ายกับนกฟินช์ที่อาศัยอยู่บนทวีปอเมริกาใต้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของนกฟินช์อาจอพยพและแพร่กระจายจากทวีปอเมริกาใต้มาอยู่บนเกาะ เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดวิวัฒนาการจนกลายเป็นนกฟินช์หลายสปีชีส์ หรือชะนีแถบภาคใต้ของไทย จนถึงตามเกาะชวา สุมาตรานั้นมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสนับสนุนว่าสมัยก่อนแผ่นดินอาจต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน และแยกออกจากกันในเวลาต่อมา จากตัวอย่างข้างต้น ข้อมูลทางชีวภูมิศาสตร์จึงถือเป็นข้อมูลสนับสนุนหนึ่งที่บ่งชี้และช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการได้มากขึ้น
ตัวอย่าง :  นกฟินช์ในหมู่เกาะกาลาปากอส
นกฟินช์ชนิดต่างๆที่พบในหมู่เกาะกาลาปากอส



5.หลักฐานทางชีววิทยาระดับโมเลกุล
    ในปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ก้าวหน้าไปมาก นับตั้งแต่ที่เมนเดลได้จุดประกายการศึกษาสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต และจุดเปลี่ยนสำคัญที่เจมส์ วัตสัน (James Watson) และฟรานซิส คริก (Francis Crick) ได้ค้นพบโครงสร้างสามมิติของดีเอ็นเอ ในปี พ.ศ.2496 ความรู้ทางพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการศึกษาสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอก็ก้าวหน้านับแต่นั้นมา สิ่งมีชีวิตพื้นฐานทุกชนิดมีดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม (ยกเว้นไวรัสบางชนิด) ความเหมือนหรือความแตกต่างของลำดับเบสในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดสามารถใช้บ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ กล่าวคือสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันเชิงวิวัฒนาการจะมีความเหมือนกันของดีเอ็นเอมากกว่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่น และเนื่องจากโปรตีนเป็นผลิตภัณฑ์จากรหัสของดีเอ็นเอ 
ตัวอย่าง: การศึกษาลำดับกรดอะมิโนของ คน ลิงซีรัส  หนู  ไก่  กบ  ปลาปากกลม พบว่าลำดับกรดอะมิโนคนกับลิงซีรัสใกล้เคียงกันแสดงว่าคนและลิงซีรัสมีวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษเดียวกัน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น